fbpx

ต้นแบบเกษตรกรชลบุรี ดันโซลูชัน ‘ฟาร์มอัจฉริยะ’

เกษตรอัจฉริยะ” แนวทางที่จะยกระดับรายได้ภาคการเกษตรให้เทียบเท่ากับภาคอุตสาหกรรม ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่วางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลรองรับ โดยเฉพาะ 5G ที่ครอบคลุมอีอีซีมากกว่า 80% และขณะนี้เริ่มมีเกษตรกรที่โช้บริการโซลูชันสำหรับฟาร์มแล้ว

เจมส์ ลิ้มรพีพงษ์ ประธานคณะกรรมการ สหกรณ์บริการส่งเสริมอาชีพและวัฒนธรรมชลบุรี จำกัดเปิดเผยว่า สหกรณ์ฯ เปิดดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลา 1 ปีกว่า ปัจจุบันมีสมาชิก 45 คน ในจำนวนนี้ประกอบธุรกิจฟาร์มเห็ดนางฟ้า นางฟ้าภูฐาน นางนวลชมพู และนางรมทอง เป็นอาชีพหลักรวม 10 ครัวเรือน ในระยะแรกกลุ่มเกษตรกรใช้วิธีเพาะเลี้ยงเห็ดแบบโรงเรือนทั่วไปใช้วัสดุไม้เหลือใช้หรือต้นไม้เสาเข็มนำมาทำโรงเรือน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและใช้เงินลงทุนต่ำ แต่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงเรื่องโรคราต่างๆ เช่น ราเหลือง ราเขียว ราดำ เป็นต้น ส่งผลให้ได้ผลผลิตไม่แน่นอน ไม่สามารถผลิตเห็ดให้มีคุณภาพสูงและมีมาตรฐานที่จะจำหน่ายภายในประเทศ หรือส่งออกเป็นอุตสาหกรรมได้ สหกรณ์ฯ จึงเปลี่ยนแนวคิดสู่การเพาะเห็ดแบบ โรงเรือนอัจฉริยะ Smart Link ที่ให้ผลผลิตสูง มีความสม่ำเสมอ และผลิตดอกเห็ดได้ตลอดปีทดแทน

“การเพาะเลี้ยงเห็ดสายพันธุ์ต่างๆ แบบใช้โรงเรือน มีข้อดีคือมีประสิทธิภาพและให้ประสิทธิผลสูง แต่มีอุปสรรคใหญ่สำหรับเกษตรกรชุมชน คือต้องใช้งบลงทุนที่สูงมาก ทั้งค่าก่อสร้างโรงเรือน ระบบการให้น้ำ และอุปกรณ์อื่นๆ อีกทั้งขั้นตอนการเพาะเห็ดวิธีนี้มีความซับซ้อน ตั้งแต่การเตรียมโรงเรือน อบฆ่าเชื้อ ปรับอุณหภูมิ ความชื้นและแสง ไปจนถึงขั้นตอนการเกิดดอกและเก็บเกี่ยว หากปรับสภาพแวดล้อมไม่ถูกวิธีจะส่งผลให้ผลผลิตทั้งหมดเสียหายได้”

สหกรณ์ฯ จึงได้ปฏิรูปการดำเนินการโดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้ได้ผลและมีมาตรฐานสูง แต่อยู่ในงบประมาณที่คุ้มค่าราคาไม่แพงเข้ามาใช้ภายใต้โครงการ “เกษตรนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงพืชผักปลอดสารพิษเห็ดนางฟ้า” แบบโรงเรือนอัจฉริยะ Smart Link ช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกร โดยได้สองพันธมิตรที่มีศักยภาพและความพร้อมมารับหน้าที่วางระบบและบริหารจัดการฟาร์มเห็ดทั้งโครงการซึ่งปัจจุบันมีโรงเรือนเพาะเห็ดทั้งสิ้น 32 โรงเรือน”

ธรรมนูญ กรเพชรพงศ์ Chief Lead Sales and Marketing บริษัท พี.ที.เอ็น.อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงได้ร่วมสนับสนุนโครงการในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการ Smart IOT ทั้ง Home Solutions และ Business Solutions บริษัทได้สนับสนุนอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นแบบอัตโนมัติบนโครงข่ายสัญญาณระดับโลกซิกฟอกส์ (Sigfox) พร้อมด้วยแท็บเล็ตเคลื่อนที่แสดงผลค่าต่างๆ ผ่าน Application ได้แบบ Realtime ผ่านบริการเช่าใช้ พร้อมทำหน้าที่ดูแลและบริหารจัดการสมาร์ทฟาร์มทั้งโครงการ

ขณะที่อีกหนึ่งพันธมิตรอย่าง ปวิณ วรพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ติงส์ ออน เน็ต จำกัด รับบทบาทสำคัญในการวางระบบและติดตั้งโซลูชัน แพลตฟอร์ม และอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นอัจฉริยะ ที่สั่งการบนโครงข่ายสัญญาณระดับโลกซิกฟอกส์ให้กับทั้ง 32 โรงเรือน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านไอโอที มีโครงข่ายสัญญาณครอบคลุมระดับโลก และมีโซลูชัน แพลตฟอร์ม และอุปกรณ์ครบวงจรที่ปรับใช้ได้ทุกอุตสาหกรรม และเป็นผู้ถือสิทธิ์การให้บริการโครงข่ายซิกฟอกส์แต่เพียงผู้เดียวในไทย

“อุณหภูมิและความชื้น เป็นตัวแปรหลักของภาคเกษตรกรรม และการเปลี่ยนแปลงของสองปัจจัยนี้เป็นสาเหตุใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลต่อพืชผล ติงส์ ออน เน็ต จึงวางระบบโซลูชันไอโอที Environmental Monitoring Solution : Temperature & Humidity และติดตั้งเซ็นเซอร์อัจฉริยะให้กับฟาร์มเห็ดของสหกรณ์ฯ เพื่อให้จัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตรวจวัดและบันทึกข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นได้อย่างอิสระทุกที่ทุกเวลาและในทุกขั้นตอนการเพาะเห็ด พร้อมระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดความผิดปกติอย่างทันท่วงที และจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ปลอดภัย ผ่านการแสดงผลบนแท็บเล็ตที่วิเคราะห์ข้อมูลสำหรับพัฒนาการเพาะเลี้ยงเห็ดต่อไปได้”

ไอโอทีโซลูชันและเซ็นเซอร์อัจฉริยะสำหรับตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้น มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องประสิทธิภาพและความแม่นยำ ซึ่งตรวจวัดและควบคุมอุณหภูมิได้ตั้งแต่ลบ 40 องศา ถึง 125 องศา และตรวจวัดความชื้นได้ตั้งแต่ระดับ 0–100% แต่ออกแบบให้มีขนาดกะทัดรัด สะดวกต่อการใช้งาน ติดตั้งง่าย ไม่ต้องเดินระบบสายไฟ อีกทั้งใช้พลังงานต่ำ แบตเตอรี่ชาร์จซ้ำได้ อายุการใช้งานนาน 5 ปี จึงลดต้นทุนให้เกษตรกรและลดความเสี่ยงการเสียหายของพืชผลจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นได้มีประสิทธิภาพ

ระบบโรงเรือนแบบ Smart Link ช่วยยกระดับการบริหารจัดการฟาร์มเห็ดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มความสะดวกในการดูแลโรงเรือนของผู้เพาะเลี้ยง ใช้กำลังคนเพียง 8 คน ดูแลโรงเรือนเพาะเห็ดทั้งหมด 32 โรงเรือน โดย 1 คน บริหารจัดการ 4 โรงเรือนพร้อมกัน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมโรงเรือน การเพาะ ไปจนถึงขั้นตอนการเกิดดอกและเก็บเกี่ยวดอกเห็ด จากเดิมที่ต้องใช้กำลังคนจำนวนมากดูแลเห็ดในโรงเรือนทุกครึ่งชั่วโมง และจดบันทึกด้วยมือ

ระบบโซลูชันไอโอทียังช่วยลดความเสี่ยงการเสียหายของเห็ดจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้น เพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิต เป็นการขยายโอกาส สร้างรายได้และผลกำไรจากตลาดระดับประเทศสู่ตลาดต่างประเทศได้ การผนึกกำลังร่วมพลิกโฉมโรงเรือนเพาะเห็ดเกษตรชุมชนสู่ฟาร์มเห็ดเกษตรอัจฉริยะครั้งนี้เป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยสู่ยุคไอโอที

เครดิตข้อมูลข่าวโดย :  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/950510

Leave a Reply