fbpx

คมนาคมเล็งโละตู้เก็บเงินตั้งเป้าขึ้นทางด่วน-มอเตอร์เวย์ไร้ไม้กั้นนำร่องด่านทับช้าง

14 ก.ย.63-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับข้อมูลทะเบียนยานพาหนะ ระหว่างกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง(ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พร้อมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น Multi-Lane Free Flow (M-Flow) ในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) ร่วมกันระหว่าง ทล. กทพ. ขบ. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว นับเป็นวันประวัติศาสตร์ ในการแก้ไขปัญหารถติดสะสมบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ (ทางด่วน) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วน นับตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ หรือเป็นเวลา 1 ปี 1 เดือน 14 วัน โดยในขณะนี้เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมแล้ว หลังจากกรมทางหลวงได้ศึกษาและพัฒนาระบบ M-Flow ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยี Video Tolling แบบ AI ที่สามารถตรวจจับป้ายทะเบียนรถโดยอัตโนมัติ โดยจะทำหน้าที่บันทึกทะเบียนรถ เพื่อเรียกเก็บค่าผ่านทางเป็นรายเดือน เช่นเดียวกับค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์

ขณะนี้ขณะนี้ อยู่ระหว่างการหาผู้รับจ้างมาดำเนินการระยะที่ 1 และเตรียมนำร่องใช้กับมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก (บางปะอิน-บางพลี) จำนวน 2 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 และด่านทับช้าง 2 ซึ่งจะเป็นระบบ M-Flow ทุกช่องเก็บเงิน โดยจะยกเลิกช่อง M-Pass และช่องเงินสด คาดว่าจะทดสอบระบบได้ภายใน ธ.ค. 2563 ก่อนเปิดให้ประชาชนใช้งานอย่างเต็มรูปแบบหลังวันหยุดยางช่วงเทศกาลปีใหม่ ม.ค. 2564 ขณะที่กทพ.จะเริ่มนำร่องที่ทางด่วนฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) ในช่วง ก.พ. 2564 จากนั้นทั้ง 2 หน่วยงาน รวมถึงเอกชนที่ได้รับสัมปทานในการบริหารจัดการทางด่วน มอเตอร์เวย์ รวมถึงโทลเวย์ เร่งขยายผลให้ครบทุกด่านภายในสิ้นปี 2564 ทั้งนี้ ยืนยันว่าระบบดังกล่าวมีการใช้ในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน สเปน เป็นต้น

“เมื่อใช้ระบบ M-Flow แล้ว ด่านเก็บค่าผ่านทางที่มีอยู่คงไม่ได้ใช้แล้ว ดังนั้นระยะต่อไปขอให้ทั้ง 2 หน่วยงานตรวจสอบในสัญญาว่า สามารถรื้อถอนออกได้หรือไม่อย่างไร เพราะถ้าใช้ระบบ M-Flow เต็มรูปแบบแล้วก็อยากให้รื้อถอนตู้ค่าค่าผ่านทางออกทั้งหมด เพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรแล้ว อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าวนอกจากอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไม่ต้องยุ่งยากในการใช้บริการแล้ว” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า การใช้ระบบ M-Flow ยังช่วยเรื่องของความมั่นคงด้วย กล่าวคือ ใช้ในการตรวจสอบยานพาหนะที่ผ่านมาเข้ามาในระบบได้อย่างแม่นยำ พร้อมบูรณาการข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยจะทราบว่า รถที่เข้ามาในระบบมีอะไรบ้าง และมีประวัติอย่างไร ถูกต้องหรือผิดกฎหมาย เช่น ปลอมทะเบียน เปลี่ยนสี ถูกขโมย หรือใช้ประกอบอาชญากรรมผ่านเข้ามาในระบบหรือไม่ เป็นต้น ก่อนส่งต่อให้ ขบ.ตรวจสอบ เพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมายต่อไป รวมถึงกรณีที่ผู้ใช้บริการชำระค่าใช้บริการไม่ครบ จะนำไปสู่การไม่ต่อทะเบียนรถให้ด้วย นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อให้เพิ่มข้อหาการไม่ชำระค่าผ่านทางเป็นความผิดตามพ.ร.บ.จราจรด้วย ซึ่งขณะนี้ทล.ได้เตรียมส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อพิจารณาแล้ว

“ขอฝากให้ 2 หน่วยงาน ทั้ง ทล. และ กทพ.ว่า การเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลกระทบอาจเกิดขึ้น จึงย้ำว่าในส่วนของพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ตามด่านเก็บเงินนั้นให้ ทล. กทพ. BEM และโทลย์เวย์ ไปพิจารณาหาทางเยียวยา โดยไม่ต้องการให้รีไทร์ แต่เปลี่ยนแปลงตำแหน่งให้ไปปฏิบัติงานอื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น จึงขอให้มั่นใจว่าไม่เกิดผลกระทบต่อพนักงานแต่ในอนาคตคงไม่มีการรับพนักงานใหม่แล้ว” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า การดำเนินการระบบ M-Flow จะมีการเปิดประมูลว่าจ้างเอกชนเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการในการตรวจรถ เรียกเก็บเงิน และติดตามหนี้กรณีไม่จ่ายค่าผ่านทาง ซึ่งปัจจุบัน กทพ.และ ทล.มีปัญหาเรื่องการเก็บค่าผ่านทางที่ได้ไม่เต็ม 100% เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีผู้หนีด่านเฉลี่ยวันละประมาณ 2% อย่างไรก็ตาม เมื่อว่าจ้างเอกชนบริหารจัดการแล้ว เอกชนจะเป็นผู้การันตีการรายได้จากการเก็บค่าผ่านทาง และประกันความเสี่ยงให้กับทั้ง 2 หน่วยงาน โดยจะได้รายได้ครบ 100%

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ภายในสิ้นเดือนนี้ ทล.จะว่าจ้างเอกชน วงเงิน 180ล้านบาท เพื่อติดตั้งระบบโครงสร้าง M-Flow ที่บริเวณด่านมอเตอร์เวย์สาย 9 ทั้ง 4 ด่าน ได้แก่ ด่านธัญบุรี 1, ด่านธัญบุรี 2, ด่านทับช้าง 1 และด่านทับช้าง 2 และอยู่ระหว่างร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ว่าจ้างเอกชนเข้ามาบริหารจัดการระบบ M-Flow พร้อมติดตั้งกล้องบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง คาดว่าจะประมูลได้ในปลาย ต.ค. 2563 จากนั้นจะทดสอบระบบในช่วง ธ.ค.นี้ และเปิดใช้อย่างสมบูรณ์ในต้นปี 2564 ก่อนขยายผลในทุกด่านต่อไป

เครดิตข้อมูลข่าวโดย :  https://www.thaipost.net

Leave a Reply