นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านการขนส่งเปิดเผยว่าผลการประชุมคณะกรรมการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกระทรวงคมนาคม และกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) นั้นได้มีการติดตามและรวมรวมข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับนำโมเดลจะประสบการณ์ด้านความปลอดภัยในการเดินทางจากทางญี่ปุ่น ที่ผ่านมาได้นำเทคนิคการปรับปรุงเพื่อลดอุบัติเหตุมาใช้แล้ว แต่เรื่องใหม่ที่มีการคุยกันคือ เมื่อถนนปลอดภัยแล้ว วินัยของการขับขี่เป็นสิ่งสำคัญจึงได้ขอให้ MLIT ช่วยนำโมเดลกฎหมายจราจรญี่ปุ่นมาใช้ในประเทศไทยเพื่อที่จะหาแนวทางที่จะปลูกฝังด้านวินัยด้านการจราจรได้อย่างไร
ดังนั้นแผนงานในปีนี้จะร่วมกันจัดทำเรื่องกฎหมาย ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นมีการกำหนดแต้มวินัยจราจร มีโทษการยึดใบขับขี่ห้ามขับขี่ 6 เดือน 1 ปีและ 3 ปีเป็นต้นหรือถึงขั้นเพิกถอนใบขับขี่ ตัดสิทธิ์ขับรถตลอดชีวิตในบางกรณี เชื่อว่าการเข้มงวดกฎหมายจราจรจะทำให้ประชาชนมีระเบียบวินัยการขับขี่มากขึ้น
นายจิรุตม์ กล่าวอีกว่า แนวทางการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ผลักดันแล้วผ่านกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอรัฐบาลพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางบกพ.ศ…ซึ่งเป็นการควบรวมพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 เข้าไว้ด้วยกัน ประกอบกับการผลักดันเรื่องเชื่อมระบบใบสั่งกับฝ่ายตำรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายจราจรให้เข้มข้นไปถึงเรื่องลงโทษใบขับขี่ตลอดจนการนำระบบตัดแต้มมาใช้ในประเทศไทย
รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่า วินัยจราจรในประเทศญี่ปุ่นมาจากความเข้มงวดของกฎหมายและระบบตัดแต้มใบขับขี่ที่มีบทลงโทษคือพักใบขับขี่หรืออาจถึงขั้นยึดใบขับขี่ โดยกฎหมายญี่ปุ่นมุ่งดูแลคนเดินเท้าเป็นพิเศษ หาก ไม่หยุดรถตามป้ายสัญญาณ มีโทษหักคะแนน 2 แต้ม เสียค่าปรับ 1,800-3,200 บาท
หากคะแนนที่ถูกหักสะสมย้อนหลัง3 ปี รวมกันตั้งแต่ 6 คะแนนขึ้นไปจะถูกยึดใบขับขี่เป็นเวลา 30-180 วัน
นอกจากนี้ยังมีโทษอื่นๆในค่าปรับเรทเดียวกัน เช่น ขัดขวางการข้ามถนนของคนเดินเท้า ขัดขวางการสัญจรของเด็กเล็ก ไม่รักษาขัดขวางการข้ามถนนของคนเดินเท้า ไม่ชะลอรถ เป็นต้นและมีโทษปรับหนัก 2,000-4,000 บาท หากขัดขวางการข้ามถนน
ส่วนด้านกฎหมายเมาแล้วขับที่นำมาใช้แล้วลดอุบัติเหตุจากคนเมาได้ถึง 78% นั้นหากผู้ขับขี่เมาแล้วขับมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับ 300,000 บาท หักคะแนน 35 แต้มและเพิกถอนใบขับขี่หรือห้ามขับรถหรือห้ามขับรถ 3 ปี ส่วนคนนั่งมาด้วยหรือผู้โดยสารจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือโทษปรับ 150,000 บาท เช่นเดียวกับ ผู้จำหน่ายสุรา ผู้สนับสนุนให้ดื่ม ขณะที่ผู้ให้ยืมหรือให้ใช้ยานพาหนะมีโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากับผู้ขับขี่
อย่างไรก็ตาม หากอุบัติเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต จะมีความผิดในโทษฐานขับขี่อันตรายอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน20 ปี ซึ่งเป็นโทษที่หนักกว่าการขับขี่โดยประมาทอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งกำหนดโทษไว้ไม่เกิน 7 ปี
เครดิตข้อมูลข่าวโดย : https://www.posttoday.com