fbpx

เทคโนโลยีจดจำใบหน้า ถูกนำมาใช้รักษาความปลอดภัยตามสนามบินและสถานที่ชุมนุมต่างๆ

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังพัฒนา ทดสอบ และนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Face Recognition) มาใช้ในด้านต่างๆ รวมทั้งในด้านการรักษาความปลอดภัย

ตัวอย่างเช่น ที่สนามบินนานาชาตินครลอสแองเจิลลีส หรือ LAX สำนักงานความปลอดภัยด้านการคมนาคมของสหรัฐฯ หรือ TSA กำลังทดลองใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในการถ่ายรูปใบหน้าของผู้โดยสารเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับรูปบนพาสปอร์ต ก่อนที่จะผ่านจุดตรวจความปลอดภัย

หากการทดลองนี้ให้ผลน่าพอใจ คาดว่า TSA จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ตามสนามบินต่างๆ ในสหรัฐฯ ในช่วง 2 ปีข้างหน้า

อีกตัวอย่างหนึ่ง บริษัท FaceFirst ของสหรัฐฯ ได้พัฒนาซอฟท์แวร์เทคโนโลยีจดจำใบหน้า เพื่อช่วยตำรวจในการติดตามประวัติของผู้ต้องสงสัย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจใช้วิธีถ่ายรูปใบหน้าของผู้ต้องสงสัยด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แล้วเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลว่าคนๆ นั้นมีประวัติด้านอาชญากรรมหรือไม่

โดยซอฟท์แวร์ที่ว่านี้สามารถนำไปติดตั้งได้ตามศูนย์การค้า คอนเสิร์ต สนามกีฬา หรือสถานที่จัดงานชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากได้

คุณปีเตอร์ เทร็ปป์ (Peter Trepp) ผู้บริหารของ FaceFirst ระบุว่า ทางบริษัทใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า GPU หรือ Graphic Processing Units ซึ่งสามารถประมวลผลข้อมูลจากใบหน้าจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และสามารถตรวจจับใบหน้าจากด้านข้าง หรือแม้แต่ใบหน้าที่กำลังเคลื่อนไหว ได้อย่างแม่นยำ

คุณเทร็ปป์ บอกว่า ในอนาคต อุปกรณ์หลายอย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งกุญแจบ้าน กุญแจรถ บัตรเอทีเอ็ม หรือแม้แต่การใส่รหัสพาสเวิร์ดต่างๆ จะค่อยๆ หายไป โดยสิ่งที่มีแทนก็คือเทคโลยีจดจำใบหน้า

ส่วนที่ประเทศจีน บริษัท Horizon Robotics ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานของระบบจดจำใบหน้า ที่สามารถระบุข้อมูลใบหน้าของแต่ละคนในฝูงชนจำนวนมากที่เดินอยู่บนถนนแห่งหนึ่งในประเทศจีน รวมทั้งตามศูนย์การค้า ผ่านกล้องวงจรปิด

อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าอย่างแพร่หลาย ก็หมายความว่าจะต้องมีใบหน้าจำนวนมาก และข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของใบหน้าเหล่านั้นที่ถูกเก็บไว้ในโลกออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งนำไปสู่ประเด็นเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะในโทรศัพท์มือถือ หรือในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

อาจารย์เปรม นาทาราจัน แห่งภาควิชาคอมพิวเตอร์ University of Southern California ชี้ว่า ปัจจุบันรูปของคุณอาจไปปรากฎในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แม้ว่าคุณไม่รู้ไม่เห็น หรือไม่ได้เป็นคนโพสต์เอง เปรียบเทียบคล้ายกับ Secondhand Smoking คือถึงคุณจะไม่ได้โพสต์รูปนั้นโดยตรง แต่ก็ต้องได้รับผลกระทบจากรูปนั้นด้วย

นักวิเคราะห์ผู้นี้รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อื่นๆ แนะนำว่า ควรมีการจัดทำโครงร่างปฏิบัติเพื่อใช้เป็นแนวทางในการควบคุมเทคโนโลยีจดจำใบหน้าด้วย

 

 

เครติดข้อมูลข่าวโดย :  https://www.voathai.com

 

 

Leave a Reply