“คมนาคม” หนุนดึงเทคโนโลยียกระดับสนามบินไทยเทียบชั้นสนามบินชั้นนำของโลก ด้าน “ทอท.” ทุ่ม 400 ล้านพัฒนาแอปพลิเคชั่น เพิ่มประสิทธิภาพบริหารทราฟฟิกลดความแออัดใน 3 สนามบินหลัก “สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต” พร้อมดันสุวรรณภูมิเป็น “เซอร์ติฟายฮับ” จีบสนามบิน CLMV ในเครือข่าย “ซิสเตอร์แอร์พอร์ต” ใช้บริการตรวจสอบ-รับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออกไปยุโรป
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวบนเวทีการจัดประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2018 ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และแนวทางความร่วมมือกับพันธมิตร 16 สนามบินทั่วโลกว่า จากคาดการณ์ขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติระบุว่า เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างประเทศกว่า 1.3 พันล้านคนทั่วโลก เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 7 ปี
สำหรับปีนี้คาดว่าแนวโน้มจะเติบโตในระดับ 4-5% และเมื่อโฟกัสเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกพบว่ามีการเติบโตราว 5-6% ทำให้ธุรกิจการบินต้องเร่งพัฒนารองรับการเติบโต
“โครงการพัฒนาสนามบินถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยพบว่าภายในปี 2564 มูลค่าการลงทุนพัฒนาสนามบินทั่วโลกมีมากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 32 ล้านล้านบาท) โดย 40% เป็นการลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิก และภายในปี 2573 มูลค่าการลงทุนพัฒนาสนามบินทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 64 ล้านล้านบาท) โดยการลงทุนด้านสนามบินที่ชัดเจนในเอเชีย-แปซิฟิกส่วนใหญ่จะอยู่ที่จีนและอินเดีย
นอกจากนี้ การลงทุนด้านเทคโนโลยีถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพบริการ โดยปัจจุบันพบว่ามีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจการบินมากขึ้น เช่น สนามบินหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเมทริกซ์) อย่างการตรวจสอบลายนิ้วมือและการจดจำใบหน้าผู้เดินทาง หรือการนำระบบ AI มาใช้ เป็นต้น
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวว่า ทอท.อยู่ระหว่างพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มในรูปแบบแอปพลิเคชั่น
โดยใช้เงินลงทุนระยะแรกประมาณ 300-400 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและบริหารจัดการปริมาณผู้โดยสารเพื่อลดความหนาแน่นทั้งขาเข้าและขาออกให้ดีขึ้นใน 3 สนามบินหลัก คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต ซึ่งมีผู้โดยสารรวมสัดส่วนมากถึง 80% ของปริมาณผู้โดยสารทั้งหมดกว่า 130 ล้านคนที่เดินทางผ่านสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท. คาดว่าจะเปิดตัวแพลตฟอร์มนี้ได้ในช่วงไตรมาส 1-2 ปี 2562
“ในช่วง 10 ปีนับจากนี้ ทอท.มีแผนพัฒนาและขยายสนามบินในเครือเพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารในอนาคต แต่เนื่องจากการขยายสนามบินในโลกแห่งความเป็นจริงต้องใช้ระยะเวลา จึงต้องพัฒนาแอปพลิเคชั่นมาช่วยบริหารจัดการในโลกเสมือนจริงให้เกิดประสิทธิภาพ” นายนิตินัยกล่าว
และว่า โดยเฉพาะเรื่องการอำนวยความสะดวกและบริหารปริมาณความหนาแน่นของผู้โดยสาร เช่น ในการเดินทางขาออก จะมีการส่งข้อมูลโปรโมชั่นในการช็อปปิ้งสินค้า ข้อมูลห้องรับรองผู้โดยสารต่าง ๆ รวมถึงการอำนวยความสะดวกเรื่องการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยว (VAT refund) ขณะที่ขาเข้าจะมีการส่งข้อมูลว่าผู้โดยสารสามารถรับกระเป๋าได้ที่สายพานไหน และตรวจสอบจากกล้องได้ว่ากระเป๋าถึงสายพานแล้วหรือยัง รวมถึงความหนาแน่นของห้องน้ำแต่ละจุด และการจองบริการรถแท็กซี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเชื่อมโยงบริการในแอปพลิเคชั่นไปยังพันธมิตร 16 สนามบินทั่วโลกในเครือข่ายซิสเตอร์แอร์พอร์ตซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่จะพัฒนาร่วมกันในปีนี้
นอกจากนี้ ทอท.ยังได้ใช้เวทีนี้ชักชวนสนามบินในเครือข่ายซิสเตอร์แอร์พอร์ต โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ให้ใช้บริการขนส่งทางอากาศ (คาร์โก้) ผ่านศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (certify hub) ของ ทอท.ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าการเกษตรในระดับภูมิภาคต่อไป ซึ่งทางสนามบินในเครือข่ายซิสเตอร์แอร์พอร์ตที่ประเทศเบลเยียมได้ประสานกับทางสหภาพยุโรปเรียบร้อยแล้ว
สำหรับความคืบหน้าเรื่อง ทอท.เตรียมเข้ารับบริหาร 4 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้แก่ ตาก ชุมพร อุดรธานี และสกลนครนั้น นายนิตินัยกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงานบริหาร เพื่อส่งให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเพิ่มเติมภายใน 15 วันนับจากนี้ หลังจากได้เข้าร่วมประชุมกับกระทรวงคมนาคม ทย.และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว
“สิ่งที่ ทอท.จะทำคือการยกระดับมาตรฐานของทั้ง 4 สนามบิน โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและระบบรักษาความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO รวมถึงความสะดวกสบายเพื่อช่วยผ่องถ่ายผู้โดยสารจากสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง และการยกระดับร้านค้าในสนามบิน คาดว่าเบื้องต้นใช้งบฯลงทุนในระยะแรกที่ 1,500 ล้านบาท
โดยหลัก ๆ จะอยู่ที่สนามบินอุดรธานีมากสุดที่ 1,000 ล้านบาท เพราะ ทอท.เห็นศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินของภาคอีสานเพื่อเชื่อมโยงเที่ยวบินระหว่างประเทศ ส่วนอีก 3 สนามบินที่เหลือจะเน้นตลาดเที่ยวบินในประเทศ” นายนิตินัยกล่าว
เครดิตข้อมูลข่าวโดย : https://www.prachachat.net